สำหรับคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนะคะ เรามาดูก่อนเลยว่าคณะรัฐมนตรีแต่ละท่านมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เรามาดูกันเลยคะ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย (อักษรโรมัน: Don Pramudwinai; เกิด: 25 มกราคม พ.ศ. 2493) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักการทูตชาวไทย อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป และในอีกหลายประเทศ
การทำงาน
นายดอน ปรมัตถ์วินัย เริ่มเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2517 ในกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2517- พ.ศ. 2523 ไปทำงานในสังกัดกองเอเซียตะวันออก กองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในคณะของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการเยือนปักกิ่ง เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อปี พ.ศ. 2518 และทำงานกิจการอาเซียนในช่วงหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2519 ในปีพ.ศ. 2523 นายดอนดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้ากองนโยบายเศรษฐกิจ และการเงิน และหัวหน้ากองพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม สำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย โดยเริ่มทำงานเกี่ยวกับปัญหาสงครามกัมพูชา–เวียดนาม
ต่อมาในปีพ.ศ. 2524 นายดอนได้รับแต่งตั้งให้เป็น เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือเยอรมนีตะวันตก และเป็นที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ในปีพ.ศ. 2527
ปี พ.ศ. 2528 นายดอนกลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมการเมือง ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกในปี พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2534 และพ.ศ. 2535 ตามลำดับ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศไทยประจำสมาพันธรัฐสวิส นครรัฐวาติกันและราชรัฐลิกเตนสไตน์ ถิ่นพำนัก ณ กรุงแบร์นระหว่างนี้ได้ถวายงานรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. 2538 และรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ในประเทศต่างๆ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสารนิเทศ ควบคู่กับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนี้ได้เริ่มต้นงานด้านเยาวชนไทยในโครงการยุวทูตความดี และกลับไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอีกครั้ง โดยปีพ.ศ. 2544 ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และมองโกเลีย ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ขณะนั้นจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งปีเดียวกันที่เข้าดำรงตำแหน่งนั้นจีนได้ในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ลำดับที่ 143 หลังจากนั้น ในปีพ.ศ. 2546 ยังมีการระบาดของโรคซาร์สเกิดขึ้นอีกด้วย
ต่อมา ปี พ.ศ. 2547 นายดอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ราชอาณาจักรเบลเยียม และราชรัฐลักเซมเบิร์ก ถิ่นพำนัก ณ กรุงบรัสเซลส์ ดูแลทุกกิจการของไทยกับสหภาพยุโรปในช่วงวิกฤติสึนามิ พ.ศ. 2547 ซึ่งเชื่อมโยงถึงการที่ไทยได้คืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences – GSP) ของสหภาพยุโรปในปีต่อมา
ในปีพ.ศ. 2550 นายดอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ทำงานเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกัมพูชาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศไทย กรณีเขาพระวิหาร ที่กัมพูชาพยายามนำเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2550 นี้ นายดอน ยังได้รับรางวัลครุฑทองคำ จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้สำหรับข้าราชการพลเรือนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น
และในปีพ.ศ. 2552 นายดอนเข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ถิ่นพำนัก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ดูแลประสานงานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างวิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2553 และได้ดูแลโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ไทย-สหรัฐอเมริกา ในระดับทั่วประเทศ จนกระทั่งออกจากตำแหน่ง โดยลาออกจากราชการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 ก่อนเกษียณอายุราชการเพียง 1 เดือน และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น นายดอน เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตนเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537
ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 เขาลาออกจากบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และเข้ารับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชาต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทนพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558
ที่มา:https://th.wikipedia.org/wiki/ดอน_ปรมัตถ์วินัย
ที่มา:https://th.wikipedia.org/wiki/ดอน_ปรมัตถ์วินัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น